Seyss-Inquart, Arthur (1892-1946)

นายอาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๘๙)

 อาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ทเป็นทนายความ นักการเมืองชาวออสเตรียเชื้อสายเช็ก และผู้นำฝ่ายสายกลางของพรรคนาซีออสเตรีย (Austrian Nazi Party) คูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ (Kurt von Schuschnigg)* นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาสภาแห่งรัฐออสเตรีย (Austrian state Council) ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในต้น ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยคาดหวังว่าไซส์ซิงควาร์ทจะสนับสนุนรัฐบาลและช่วยคานอำนาจกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ไซส์ซิงค์ควาร์ทคัดค้านแนวความคิดของนายกรัฐมนตรีชุชนิกก์ที่จะให้ชาวออสเตรียลงประชามติว่าต้องการรวมเข้ากับเยอรมนีหรือไม่เพราะเขาสนับสนุนเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSADP; Nazi Party)* ฮิตเลอร์กดดันและบีบบังคับให้ชุชนิกก์ลาออกและแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นนายกรัฐมนตรีแทนในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ไซส์ซิงควาร์ทจึงตอบแทนด้วยการส่งโทรเลขเชิญกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองออสเตรีย โดยรวมเข้ากับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ไซส์ซิงควาร์ทได้ผลักดันการออกกฎหมายให้ออสเตรียมีสถานะเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิไรค์โดยเรียกชื่อว่าออสมาร์ค (Ostmark) และสนับสนุนการรวมหน่วยเอสเอสออสเตรียเข้ากับเอสเอส (SS)* เยอรมัน ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* หัวหน้าเอสเอสและแกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีจึงแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของหน่วยเอสเอสใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐบาลนาซี

 ไซส์ซิงควาร์ทเกิดในครอบครัวปัญญาชนชาวเช็ก เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ ที่เมืองชตันแนร์น [Stannern-ปัจจุบันคือเมืองสโตนารอฟ (Stonarov)] ในแคว้นโมเรเวีย (Moravia) ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* บิดาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและมารดาเป็นครู เขาเป็นบุตรชายคนสุดท้องและมีพี่น้อง ๕ คน เป็นชาย ๓ คน และหญิง ๒ คน ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ครอบครัวอพยพมาตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา โดยบิดาได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมเขาจึงเปลี่ยนชื่อสกุลจากซัจทิช (Zajtich) ซึ่งเป็นภาษาเซ็กเป็นไซส์ซิงควาร์ท เขาเป็นเด็กหัวดี ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และการเมือง และสอบได้ไม่ตํ่ากว่าที่ ๕ ทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ดี หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ไซส์ซิงควาร์ทเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเวียนนา ในระหว่างเรียนเขาพบรักกับแกร์ทรูด มัชคา (Gertrud Maschka) เพื่อนนักศึกษาที่เรียนด้านศิลปะทั้งคู่แต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๙๑๖ และมีบุตรด้วยกัน ๓ คนเป็นชาย ๑ คนและหญิง ๒ คน

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ไซส์ซิงควาร์ทถูกเกณฑ์เป็นทหารประจำการกองทัพออสเตรียและเข้าร่วมรบในการป้องกันแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ต่อมาเมื่อเยอรมนีแต่งตั้งพลเอกเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพออสเตรียเพื่อต้านการบุกของรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก ไซส์ซิงควาร์ทถูกย้ายไปสังกัดกองกำลังผสมออสเตรีย-เยอรมันเพื่อบุกโจมตีแนวรบด้านรัสเซีย โรมาเนีย และอิตาลี เขาร่วมรบอย่างกล้าหาญและได้รับบาดเจ็บหลายครั้งจนได้รับเหรียญกล้าหาญหลายเหรียญ ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ไซส์ซิงควาร์ทได้รับบาดเจ็บสาหัสในยุทธการที่คาปอเรตโต (Battle of Caporetto)* ซึ่งเป็นการรบระหว่างกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* กับกองทัพอิตาลี เขาจึงถูกปลดประจำการ ในช่วงพักรักษาตัวที่กรุงเวียนนา ไซส์ซิงควาร์ทกลับไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๑๘

 ในทศวรรษ ๑๙๒๐ ไซส์ซิงควาร์ทประกอบอาชีพทนายความและเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะทนายคารมกล้าที่มีฝีมือซึ่งไม่เคยแพ้คดี เขามักใช้เวลาว่างติดตามปัญหาทางการเมืองและสังคมและสนใจแนวนโยบายของพรรคนาซีออสเตรียซึ่งรณรงค์เรื่องการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีและการต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคนาซีออสเตรียปรับปรุงนโยบายของพรรคให้สอดคล้องกับพรรคนาซีของฮิตเลอร์และสมาชิกส่วนใหญ่ถือว่าพวกตนเป็นสมาชิกพรรคนาซีด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ไซส์ซิงควาร์ทก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคออสเตรียนาซีอย่างลับ ๆ และให้ความสนใจพรรคนาซีโดยติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคนาซีอย่างใกล้ชิด

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เองเงิลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)* ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคสังคมคริสเตียน (Christian Social Party) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลผสม ดอลล์ฟุสส์ดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอิตาลีและลดความสัมพันธ์กับเยอรมนีลง นโยบายดังกล่าวทำให้พวกชาตินิยมหัวรุนแรงและพรรคการเมืองฝ่ายขวาซึ่งรวมทั้งพรรคนาซีออสเตรียไม่พอใจ และนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างรุนแรงจนดอลล์ฟุสส์ใช้เป็นข้ออ้างประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภาแห่งชาติ เขายังประกาศให้พรรคนาซีออสเตรียเป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๓ ดอลล์ฟุสส์สามารถตกลงกับเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีให้คํ้าประกันเอกราชของออสเตรียโดยมีเงื่อนไขว่าจะยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ ในออสเตรียทั้งหมดและใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปกครองประเทศตามแนวทางลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* นโยบายของดอลล์ฟุสส์ได้นำไปสู่การจลาจลที่เกือบจะลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองแต่รัฐบาลก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตามพวกนาซีออสเตรียก็ยังคงพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐบาลและต่อมาก็สามารถบุกเข้ายิงดอลล์ฟุสส์ในทำเนียบรัฐบาลจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔

 หลังอสัญกรรมของดอลล์ฟุสส์ คูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐบาลของดอลล์ฟุสส์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขายังคงสานต่อนโยบายของดอลล์ฟุสส์ในการจะรักษาความเป็นเอกราชของออสเตรียไว้และพยายามสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อฮิตเลอร์และมุสโสลีนีบรรลุความตกลงร่วมกันในสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* ชุชนิกก์จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับเยอรมนี เขายอมยกเลิกนโยบายต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของพวกนาซีและปล่อยนักโทษการเมืองที่เป็นสมาชิกพรรคนาซีออสเตรีย ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ชุชนิกก์แต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นที่ปรึกษาสภาแห่งรัฐออสเตรียเพราะเห็นว่าเขามีบุคลิกภาพที่เป็นกันเอง และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งไม่มีแนวความคิดทางการเมืองที่รุนแรง ชุชนิกก์คาดหวังว่าไซส์ซิงควาร์ทจะช่วยทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและสนับสนุนเรื่องการคงความเป็นเอกราชของออสเตรีย

 อย่างไรก็ตาม ไซส์ซิงควาร์ทกลับสนับสนุนการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีและกดดันชุชนิกก์ให้เปิดการเจรจากับเยอรมนีโดยเขาทำหน้าที่ประสานการติดต่อกับรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* และแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* ผู้แทนระดับสูงของพรรคนาซี บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ เพราะฮิตเลอร์บีบบังคับชุชนิกก์ให้แต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทโดยมุ่งหวังให้เขาเป็นไส้ศึกภายในออสเตรียทันทีที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไซส์ซิงควาร์ทเดินทางไปพบฮิตเลอร์ที่กรุงเบอร์ลิน และเสนอรายงานว่าด้วยสถานภาพของพรรคนาซีออสเตรีย และแผนการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ฮิตเลอร์เห็นชอบกับแผนการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี และสนับสนุนการให้พรรคนาซีออสเตรียกลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมือง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ชุชนิกก์เดินทางไปเจรจากับฮิตเลอร์ที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) เยอรมนีเกี่ยวกับอนาคตของออสเตรีย เขาถูกบีบบังคับจนต้องยอมตกลงให้พรรคนาซีออสเตรียจัดตั้งขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง และให้สมาชิกพรรคกลับเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่เดิมในวงงานราชการ โดยต้องดำเนินการให้เสร็จสินภายในเวลา ๓ วัน

 หลังพรรคนาซีออสเตรียกลับสู่อำนาจ พรรคนาซีออสเตรียก็เคลื่อนไหวผลักดันการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เริ่มชุมนุมต่อต้านชุชนิกก์สนับสนุนฝ่ายที่ต่อต้านและประกาศจะยืนหยัดปกป้องความเป็นเอกราชของออสเตรียจนสิ้นลมหายใจ เขาตัดสินใจที่จะขัดขวางแนวทางของพรรคนาซีออสเตรียด้วยการประกาศในวันที่ ๙ มีนาคม กำหนดให้มีการออกเสียงลงประชามติในวันที่ ๑๓ มีนาคมว่า จะรักษาเอกราชของออสเตรียหรือจะร่วมมือกับเยอรมนี พวกนาซีออสเตรียตามเมืองต่าง ๆ ได้ชุมนุมประท้วงและเกิดการปะทะกันประปรายระหว่างฝ่ายนาซีกับฝ่ายที่สนับสนุนชุชนิกก์ ในวันที่ ๑๐ มีนาคม มีการประกาศปิดพรมแดนออสเตรีย-เยอรมัน ฮิตเลอร์จึงสั่งการให้เคลื่อนกำลังบุกออสเตรีย ในช่วงเวลาเดียวกันไซส์ซิงควาร์ทได้ยื่นคำขาดของฮิตเลอร์แก่ชุชนิกก์โดยให้เขายกเลิกการลงประชามติและลาออกจากตำแหน่ง ชุชนิกก์ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกจึงลาออก เขากล่าวอำลาประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงและเรียกร้องไม่ให้มีการต่อต้านการบุกของเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทั้งชาวออสเตรียและชาวเยอรมันเสียเลือดเนื้อ

 ประธานาธิบดีวิลเฮล์ม มิคลัส (Wilhelm Miklas) ในระยะแรกปฏิเสธที่จะแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากชุชนิกก์ตามข้อเรียกร้องของเยอรมนีแต่เมื่อเขาทราบข่าวการเคลื่อนกำลังพลของเยอรมนี จึงจำยอมแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทในท้ายที่สุด และในเที่ยงคืนของวันที่ ๑๑ มีนาคมก็ยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคนาซีออสเตรีย ในวันรุ่งขึ้นไซส์ซิงควาร์ทส่งโทรเลขเชิญกองทัพเยอรมันเข้าออสเตรีย อีก ๒ วันต่อมาเยอรมนีก็ส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีโดยเป็นแคว้นหนึ่งในจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เพื่อให้ออสเตรียเห็นชอบ ประธานาธิบดีมิคลัสต่อต้านด้วยการลาออก แต่ไซส์ซิงควาร์ทและคณะรัฐบาลของเขามีมติเห็นชอบทั้งผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้อง สถานภาพการเป็นรัฐอิสระของรัฐออสเตรียจึงสิ้นสุดลงโดยปริยายในวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ในวันที่ ๑๐ เมษายนไซส์ซิงควาร์ทจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ชาวออสเตรียร้อยละ ๙๙.๗๕ ต่างเห็นชอบกับการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี การรวมดังกล่าวเป็นการละเมิดมาตราที่ ๘๐ ของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งห้ามการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี

 หลังการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ออสเตรียมีสถานะเป็นจังหวัดหนึ่งในจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ โดยมีชื่อว่าออสมาร์คซึ่งแบ่งการปกครองเป็น ๘ เขต (Gaul) ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทเป็นข้าหลวงแห่งออสมาร์ค ไซส์ซิงควาร์ทได้นำเหล่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่กล่าวสัตย์ปฏิญาณตนจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์หรือฟือเรอร์ (Führer)* เพียงผู้เดียวเขายังสนับสนุนให้หน่วยเอสเอสออสเตรียรวมเข้ากับหน่วยเอสเอสเยอรมันและมีส่วนร่วมในแผนของฮิตเลอร์ในการผนวกเชโกสโลวะเกีย ไซส์ซิงควาร์ทติดต่อกับคอนราด เฮนไรน์ (Konrad Henrein) ผู้นำพรรคซูเดเทน-เยอรมัน (Sudeten-German Party) ซึ่งนิยมลัทธินาซีให้เคลื่อนไหวเรียกร้องประธานาธิบดีเอดูอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* แห่งเชโกสโลวะเกียให้สิทธิการปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) และให้เสรีภาพในการแสดงออกแก่พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ลัทธินาซี เฮนไรน์จึงเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลเช็กอย่างหนักเพื่อให้มอบอำนาจการปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์และนำไปสู่การประชุมของประเทศมหาอำนาจที่เมืองมิวนิกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องซูเดเทนลันด์ในความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เยอรมนีก็ได้ซูเดเทนลันด์ตามความต้องการ

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่อไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* หัวหน้าสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค์ (Reich Security Main Office) และโยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิธรรมและการโฆษณาชวนเชื่อ (Public Enlightenment and Propaganda) ร่วมกันวางแผนในการปลุกปั่นชาวเยอรมันให้ข่มเหงชาวยิวจนนำไปสู่เหตุการณ์คืนกระจกแตก (Kristallnacht)* ที่มีการฆาตกรรมหมู่ชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวทั่วเยอรมนี ไซส์ซิงควาร์ทสนับสนุนให้มีการข่มเหงทำร้ายชาวยิวในออสมาร์คด้วย เขายังผลักดันการออกกฎหมายให้แบ่งแยกชาวยิวออกจากชาวออสเตรียและยึดทรัพย์สินของชาวยิวที่ได้ชื่อว่าเป็น “ศัตรูของประชาชนและรัฐ” รวมทั้งให้สร้างค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่เมาเทาเซิน (Mauthausen) ด้วย ค่ายกักกันนื้ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์ประหาร (extermination center) ที่สำคัญไนออสมาร์ค

 เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีโปแลนด์ด้านตะวันตกด้วยยุทธวิธีรบแบบสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในช่วงเวลาไม่ถึงเดือนโปแลนด์ก็ยอมแพ้ ต่อมาในเดือนตุลาคม เยอรมนีจัดรูปแบบการปกครองโปแลนด์ใหม่โดยเรียกชื่อว่ารัฐบาลกลางแห่งโปแลนด์ (General Government of Poland) และแต่งตั้งฮันส์ แฟรงค์ (Hans Frank)* แกนนำพรรคนาซีคนสำคัญเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งดินแดนโปแลนด์ที่ถูกยึดครอง (Governor-General of the Polish Occupied Territory) และไซส์ซิงควาร์ทเป็นรองข้าหลวงใหญ่ดูแลเขตยึดครองในโปแลนด์ตอนใต้ (๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ - ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐) ก่อนเข้ารับตำแหน่งไซส์ซิงควาร์ทได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่เขาต้องรับผิดชอบดูแลและมอบนโยบายให้แก่เจ้าหน้าที่โดยเน้นการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของจักรวรรดิไรค์และให้โปแลนด์เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่จะตอบสนองความต้องการของเยอรมนี เขาสั่งการให้ยึดทรัพย์สินของชาวโปลเชื้อสายยิวและให้กวาดต้อนปัญญาชนยิวไปกักบริเวณ รวมทั้งให้เกณฑ์แรงงานด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมไปทำงานที่เยอรมนี

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีบุกโจมตีนอร์เวย์ตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง (Operation of Weserübung) ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* แม้นอร์เวย์จะสามารถต่อต้านการบุกของกองทัพเยอรมันได้นานเกือบ ๒ เดือน แต่กำลังพลที่น้อยกว่าและขาดการสนับสนุนทางอากาศยานทำให้ต้องยอมแพ้ในต้นเดือนมิถุนายน พระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII)* ต้องเสด็จหนีจากกรุงออสโล (Oslo) พร้อมด้วยคณะรัฐบาลไปอังกฤษและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอน หลังความพ่ายแพ้ของนอร์เวย์ เยอรมนีได้จัดระเบียบการปกครองกลุ่มประเทศแผ่นดินตํ่า (Low Countries) และแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทรับผิดชอบดูแลเนเธอร์แลนด์ในตำแหน่งข้าหลวงไรค์แห่งเนเธอร์แลนด์ที่ถูกยึดครอง (Reichskommissar for the Occupied Netherlands ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ - ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕) ไซส์ซิงควาร์ทประกาศนโยบายที่จะดำเนินการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของจักรวรรดิไรค์ และรักษาความสงบเรียบร้อยในเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือใกล้ชิดทางเศรษฐกิจระหว่างเนเธอร์แลนด์กับจักรวรรดิไรค์ เขาจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นเพื่อให้ควบคุมกลุ่มการเมืองต่าง ๆ และในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ ก็ยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ ไซส์ซิงควาร์ทยังสนับสนุนชาวดัตช์ที่นิยมนาซีให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ทางการเมืองและสังคมเขายกเลิกกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งกฎหมายสมรสที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงต้องให้ความยินยอมก่อนจึงจะสมรสได้ โดยกฎหมายใหม่ส่งเสริมให้ชายชาวเยอรมันแต่งงานกับผู้หญิงดัตช์ได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ไซส์ซิงควาร์ทยังยึดงานศิลปะที่ลํ้าค่าของเนเธอร์แลนด์ส่งไปเยอรมนีและใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ก็โอนธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของเนเธอร์แลนด์เป็นของเยอรมนี

 ไซส์ซิงควาร์ทจัดตั้งกองกำลังนาซีกึ่งทหารขึ้นเพื่อกวาดล้างและปราบปรามขบวนการต่อต้านชาวดัตช์ และใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ตั้งศาลอาญาศึก (Court-martial) เพื่อให้รวบรัดการพิจารณาคดีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลและจักรวรรดิไรค์ ศาลอาญาศึกได้ตัดสินประหารชาวดัตช์กว่า ๑,๐๐๐ คน และจำคุกตลอดชีวิตชาวดัตช์อีกจำนวนมาก ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อกวนความสงบและความเป็นระเบียบของสังคม เขายังบังคับเกณฑ์ชาวดัตช์กว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเยอรมนีหากใครขัดขืนหรือต่อต้านก็จะถูกส่งไปทำงานในค่ายกักกันใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เขายังออกกฎหมายบังคับเกณฑ์พลเมืองดัตช์อายุระหว่าง ๑๘-๓๕ ปีไปทำงานเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐบาลนาซีเรียกร้องให้ส่งแรงงานดัตช์ ๒๐๐,๐๐๐ คนไปเยอรมนี แต่ไซส์ซิงควาร์ทเกณฑ์แรงงานได้เพียง ๑๒,๐๐๐ คนเท่านั้น

 ในกรณีชาวดัตช์เชื้อสายยิว ไซส์ซิงควาร์ทได้ตัดสิทธิความเป็นพลเมือง และห้ามประกอบอาชีพในวงงานราชการสื่อมวลชน และวงการอุตสาหกรรม ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาเริ่มมาตรการต่อต้านชาวยิวด้วยการบังคับชาวยิวและชาวดัตช์เชื้อสายยิวกว่า ๑๔๐,๐๐๐ คนลงทะเบียนเพื่อส่งไปกักกันที่เขต “เกตโต” (ghetto) ชานกรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) หรือที่เวสเตอร์บอร์ก (Westerbork) ซึ่งเป็นค่ายกักกันขนาดเล็ก ต่อมาชาวยิวเหล่านี้ถูกส่งไปค่ายกักกันที่บูเคนวัลด์ (Buchenwald) เมาเทาเซิน และเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ตามลำดับ และส่วนใหญ่จะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ส่วนชาวดัตช์ลูกผสมเชื้อสายยิว ไซส์ซิงควาร์ทให้โอกาสเลือกว่าจะไปทำงานที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์หรือจะให้หำหมัน แอนน์ แฟรงก์ (Anne Frank)* เด็กสาวชาวดัตช์เชื้อสายยิวซึ่งซ่อนตัวในห้องใต้หลังคาในกรุงอัมสเตอร์ดัมเกือบ ๒ ปีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ และต่อมาถูกจับกุมก็เสียชีวิตในค่ายกักกันด้วย หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ประมาณว่าชาวยิวและชาวดัตช์เชื้อสายยิวที่ลงทะเบียนใน ค.ศ. ๑๙๔๑ รอดชีวิตเพียง ๒๐,๐๐๐ คนเท่านั้น

 ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะที่กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตได้เคลื่อนกำลังใกล้จะถึงกรุงเบอร์ลิน ฮิตเลอร์ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ก่อนหน้านั้นไม่นานนักเขาแต่งตั้งจอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมันเป็นผู้สืบตำแหน่งฟือเรอร์ต่อจากเขา ไซส์ซิงควาร์ทซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๓๐ เมษายน - ๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕) ต่อจากโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* ได้ประกาศเรื่องการแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ต่อสาธารณชน การแต่งตั้งไซส์ซิงควาร์ทครั้งนี้เป็นเพราะฮิตเลอร์เห็นว่าเขาเป็นคนที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีทั้งเชื่อมั่นในอุดมการณ์ลัทธินาซีและยืนหยัดที่จะอยู่เคียงข้างฮิตเลอร์ในช่วงเวลาที่แกนนำพรรคนาซีคนสำคัญ ๆ เช่น ไฮน์ดริช ฮิมเลอร์ และแฮร์มันน์ เกอริงหนีเอาตัวรอด อย่างไรก็ตาม ทั้งเดอนิทซ์และไซส์ซิงควาร์ทก็ล้มเหลวที่จะรวมพลังประชาชนเยอรมันให้ต่อสู้ทำสงครามต่อไป จอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี (Bernard Law Montgomery)* ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายพันธมิตรจึงกดคันให้เยอรมนียอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขในแนวรบทุกด้าน รัฐบาลของเดอนิทซ์ซึ่งมีอำนาจได้ไม่ถึง ๒๐ วันตระหนักว่าเยอรมนีไม่สามารถที่จะยืนหยัดทำสงครามต่อไปได้จึงประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

 ก่อนการประกาศยอมแพ้เล็กน้อย ไซส์ซิงควาร์ทร่วมมือกับอัลแบร์ท ชเปร์ (Albert Speer)* รัฐมนตรีสรรพาวุธแห่งไรค์ (Reich Minister of Armaments) เคลื่อนไหวขัดขวางปฏิบัติการที่เป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของฮิตเลอร์ที่เรียกว่าการ “ทำลายล้างโลก” (scorched earth) ในการระเบิดทำลายเยอรมนีและดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้พินาศเป็นเถ้าถ่านรวมทั้งให้ทำลายเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ฝ่ายพันธมิตรกำลังจะรุกมาถึง ไซส์ซิงควาร์ทยังยอมให้เครื่องบินฝ่ายพันธมิตรใช้น่านฟ้าเยอรมันบินทิ้งขนมปังและอาหารให้แก่ผู้คนที่อดอยากหิวโหยในพื้นที่ที่ถูกยึดครองทางตอนเหนือของเยอรมนีด้วย เขาถูกกองทหารแคนาดาซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรจับกุมได้ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

 หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ฝ่ายพันธมิตรได้นำผู้นำนาซีคนสำคัญรวม ๒๒ คนส่งศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) พิจารณาความผิดในช่วงสงคราม ในการพิจารณาคดีที่เรียกกันว่าการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๙ ไซส์ซิงควาร์ทถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพด้วยการวางแผนและก่อสงครามเป็นอาชญากรสงครามด้วยการรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการปกปิดการเข่นฆ่าทางเชื้อชาติ ศาลตัดสินว่าไซส์ซิงควาร์ทมีความผิดตามข้อกล่าวหาและตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เมื่อเขาทราบคำตัดสิน ไซส์ซิงควาร์ทกล่าวว่าขอให้การแขวนคอเขาเป็นการกระทำครั้งสุดท้ายของโศกนาฏกรรมของสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นบทเรียนจากสงครามว่าสันติภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกันจะยังคงดำรงอยู่ระหว่างมนุษยชาติ แม้จะเสียชีวิต แต่เขาก็ยังคงเชื่อมั่นในฟือเรอร์และเยอรมนี

 อาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ทถูกแขวนคอในคุกนูเรมเบิร์กเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ รวมอายุได้ ๕๔ ปี เอกสารและข้อเขียนของเขาจำนวนหนึ่งเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเยอรมัน (German Federal Archives) ที่เมืองโคเบลนซ์ (Koblenz).



คำตั้ง
Seyss-Inquart, Arthur
คำเทียบ
นายอาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท
คำสำคัญ
- กองทัพแดง
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกอริง, แฮร์มันน์
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- ความตกลงมิวนิก
- ค่ายกักกัน
- คืนกระจกแตก
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- ชุชนิกก์, คูร์ท ฟอน
- เชโกสโลวะเกีย
- ซูเดเทนลันด์
- ไซส์ซิงควาร์ท, อาร์ทูร์
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- ปฏิบัติการเวเซรือบุง
- พรรคซูเดเทน-เยอรมัน
- พรรคนาซี
- พรรคนาซีออสเตรีย
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมคริสเตียน
- ฟือเรอร์
- แฟรงก์, แอนน์
- แฟรงค์, ฮันส์
- มหาอำนาจกลาง
- มิคลัส, วิลเฮล์ม
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่คาปอเรตโต
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- โรมาเนีย
- ลัทธินาซี
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ศาลทหารระหว่างประเทศ
- ศาลอาญาศึก
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาแห่งรัฐ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เอสเอ
- เอสเอส
- เอาช์วิทซ์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮนไรน์, คอนราด
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1892-1946
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๘๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-